“กรมปศุสัตว์” สั่งทุกพื้นที่คุมเข้มโรคระบาดสัตว์… อ่านต่อที่ :
พบนักท่องเที่ยวนำหมา-แมว เที่ยวอุทยานแห่งชาติ ช่วง 1 เดือนต้องรับฝากสัตว์เลี้ยงอย่างน้อย 10 ตัวเฉพาะที่เขาใหญ่ และอีก 30 คันที่ขอ กลับ “สัตวแพทย์” สะท้อนความเสี่ยงแอบบนำสัตว์เลี้ยงเที่ยวอุทยาน เคยเจอ”กวางแท้งลูก” จากโรคในขี้แมว ลามถึงเจ้าหน้าที่มีลูกยาก
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ สัตวแพทย์ประจำคลินิกสัตว์ เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ปัญหานักท่องเที่ยวการแอบนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปบนอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะสุนัขและแมว ซึ่งมักเจอบ่อยครั้ง ถือเป็นเรื่องอันตรายมากต่อการนำโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงไปสู่สัตว์ป่าในกลุ่มสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะที่เป็นข่าวเมื่อช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานที่มีสัตว์ป่า เช่น หมาจิ้งจอก หมาใน กลุ่มแมวดาว เสือโคร่ง เสือลายเมฆ ซึ่งสุ่มเสี่ยงมาก เพราะในตัวสุนัข และแมวจะมีโรคพยาธิในทางเดินอาหาร และปรสิตนอก เช่น เห็บ หมัด และพยาธิในเม็ดเลือดที่นำโดยตัวเห็บ
“ถ้าแอบลักลอบนำสุนัข แมวเข้าไปบนอุทยานยากที่จะหลีกเลี่ยงนำสัตว์เลี้ยงลงไปขับถ่ายในพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งริมต้นไม้ ข้างเต็นท์ ข้างรถ มูลของสัตว์มีโอกาสที่มีตัวอ่อนของหนอนพยาธิ โปรโตซัวลงในดิน ในพื้นที่หญ้า ซึ่งถึงเจ้าของจะบอกว่าเก็บมูลหมดก็ไม่หมดแน่นอน”
หมาบ้านแพร่เชื้อหมาป่าในอุทยานฯตาย
นายสัตวแพทย์เกษตร ยกตัวอย่างกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นจากการแพร่เชื้อของสัตว์บ้าน ที่เคยเกิดขึ้นจากปัญหาโรคไวรัสจากหมาบ้าน สู่หมาป่าที่ทวีปแอฟริกา กรณีที่หมาป่าในธรรมชาติตายลงเกือบครึ่งของประชากร ซึ่งเมื่อสอบสวนโรคจึงรู้ว่าการระบาดของโรคมาจากเชื้อจากหมาบ้าน เนื่องจากหมาป่าไปกินมูลของหมาบ้านที่ถ่ายไว้ และพาเชื้อโรคไปติดในฝูงหมาป่า เนื่องจากหมาเป็นสัตว์สังคมเมื่อตัวหนึ่งป่วยก็จะมีการดูแลกัน ทำให้เกือบสูญพันธุ์
ส่วนพวกเห็บ หมัด ที่อยู่บนตัวหมาและแมว แค่เห็บหมัดกระโดด จากตัวสัตว์บ้านเข้าไปเป็นพยาธิในเลือด และยังไม่รวมเป็นขี้เรื้อนในสัตว์ป่า ซึ่งกรณีนี้ในปี 2559 ก็เคยมีคนถ่ายภาพหมาในที่เขาใหญ่ เป็นขี้เรือน ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ระบาดรุนแรง เพราะว่าพันธุกรรมของหมาในรู้ว่าหมาเขาใหญ่เป็นขี้เรื้อน ซึ่งทีมสัตวแพทย์ก็พยายามตามรักษา ซึ่งโชคดีที่ไม่ระบาดยกฝูง เนื่องจากพันธุกรรมของหมาป่าแข็งแรงกว่าหมาบ้านแต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะจะเกิดความเสียหายทางธรรมชาติตามมา
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
หายนะไทย กระทิงกุยบุรีติดโรคคอบวมตายกว่า 30 ตัว
นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย เคยมีกรณีที่ชัดเจนคือเรื่องกระทิงกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ติดโรคคอบวมตายกว่า 30 ตัวจากฝูงกระทิงราว 150 ตัว ซึ่งราวปี 2558 ถือเป็นหายนะทางธรรมชาติอย่างมาก โดยสาเหตุมาจากการำนำฝูงแพะมาเลี้ยงแถวป่ากันชนพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
“เคสกระทิงตาย เป็นเรื่องที่สะเทือนใจนักอนุรักษ์ เพราะกว่าจะหาสาเหตุ สอบสวนโรคว่าเกิดจากปศุสัตว์ คือการนำแพะไปเลี้ยงในป่ากันชนที่มีกระทิงออกมาหากิน กว่าจะหยุดโรคระบาดได้ต้องใช้เวลา”
ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกลุ่มนักอนุรักษ์ ถึงออกมาเคลื่อนไหวไม่ให้นำฝูงวัว ควายไปเลี้ยงในแหล่งที่มีสัตว์ป่าออกมาหากิน เช่น ห้วยขาแข้ง ก็มีกระทิง และวัวแดง ขอบป่าใกล้พื้นที่อนุรักษ์ เพราะจะเสี่ยงต่อโรคปากเท้าเปื่อย
เทียบ “เขาใหญ่ถังขยะ” คนแอบนำสัตว์มาปล่อย
นายสัตวแพทย์เกษตร ระบุอีกว่า สำหรับกรณีเขาใหญ่ ไม่เพียงแต่มีแค่ลักลอบนำหมา แมว รวมทั้งงูหลามไปเที่ยวกับนักท่องเที่ยว แต่มีปัญหาการลักลอบนำสัตว์บ้านไปปล่อยด้วย ที่ผ่านมานักถ่ายภาพสัตว์ป่า เคยเจอนกกระตั้ว จากประเทศออสเตรเลีย นกคูแคนจากอเมริกาใต้ งูเหลือม งูหลามที่เขาถ่ายภาพกันได้แล้วมาโพสต์ถามกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติว่าเป็นนกชนิดไหน สุดท้ายถึงตรวจสอบว่าเป็นนกกระตั้ว ที่ไม่ได้มีในป่าไทย แต่ถูกนำไปปล่อยทิ้งไว้บนเขาใหญ่
“ ตอนนี้เขาใหญ่ ถูกเปรียบเหมือนถังขยะ เพราะเป็นจุดปล่อยสัตว์ป่าที่เขาเลี้ยงไม่ไหวกันหลายชนิดมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะอยู่ใกล้ กทม.เลยแอบไปปล่อยกัน”
นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ไม่สอดส่อง เจ้าหน้าที่ทั้งมีป้ายเตือนเรื่องห้ามนำสัตว์เลี้ยงข้าอุทยาน ถ้าเจอก็ต้องฝากใส่กรงไว้ที่ด่าน แต่ถ้าต้องเปิดค้นทุกซอกทุกมุมในรถนักท่องเที่ยว รถคงติดยาว และเกิดปัญหาตามมาด้วย เรื่องนี้ขึ้นกับจิตสำนึกของนักท่องเที่ยวมากกว่าเคยมีเจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่ามีนายตำรวจ ทหาร ในจังหวัดขอนำสุนัขผ่านจากฝั่งปากช่อง ไปฝั่งปราจีน เพราะวิ่งข้ามจังหวัด แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอม เพราะต้องเคร่งครัดกับการอนุญาต เรื่องนี้รู้สึกเห็นใจเจ้าหน้าที่ภาคสนาม
เจอกวางแท้งลูกโรคในขี้แมว-สู่เจ้าหน้าที่มีบุตรยาก
ด้านนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุพืช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในไทยเคยมีการศึกษายืนยันโรคเป็นปัจจัยที่ที่บ่งชี้ว่าโรคจากสัตว์เลี้ยงในบ้านสู่สัตว์ป่าในอุทยาน โดยมาจากการสุ่มตรวจสุขภาพสัตว์เลี่ยงที่ใกล้ชิดกับคน เช่น พบว่ากวางมีตัวผอม แท้งลูก เมื่อตรวจสุขภาพกวางฝูงนี้เจอเชื้อ Toxoplasma โดยที่ทำให้เกิดโรคท็อกโซพลาสโมซิส ซึ่งเชื้อมาจากขี้แมว ที่เป็นพาหะทำให้กวางและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
“เชื้อชนิดนี้จากสัตว์สู่คนได้ ซึ่งข้อบ่งชี้จากกวางที่มีโรคท็อกโซพลาสโมซิส ทำให้พบมีเจ้าหน้าที่หญิงในอุทยานฯ บางคนมีปัญหาการตั้งท้อง และมีภาวะมีบุตรยาก ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงและไม่ขอระบุชื่ออุทยาน และพอมีการศึกษาเจอก็สำรวจแมวที่เล็ดลอดเข้าไปในอุทยานและจับออก”